
สวัสดีค่ะทุกคน นุ่นนิ่นเองนะคะ 🙂 ถ้าพูดถึงคนรุ่น Gen Y แล้ว เชื่อว่าการทำธุรกิจต้องเป็นหนึ่งในความฝันของหลาย ๆ คนแน่นอนค่ะ แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง การศึกษาให้รอบด้านและตัดสินใจอย่างรอบคอบแบบไม่เพ้อฝันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ
สำหรับนักอ่านท่านใดที่เป็นผู้หญิง ชอบ Working Woman ที่ลุคชิล ๆ แต่จริงจัง นุ่นอยากให้อ่านสัมภาษณ์และถอดบทเรียนจาก พี่เชียร์ ฑิฆัมพร ฤทธิ์ธาอภินันท์ เลยค่ะ พี่เชียร์เป็นนักแสดงที่นุ่นชอบตั้งแต่ ป. 5 วันนี้พี่เชียร์ทำงานในวงการบันเทิงด้วยและทำธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและความงาม CHAME’ มาครบ 8 ปีพอดี ซึ่งยอดขายและการเติบโตทางธุรกิจของพี่เชียร์นับว่าน่าสนใจมาก จึงได้รับเชิญเป็น Guest Speaker ในการบรรยายในประเด็น Passion to Money ณ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 61 ที่ผ่านมาค่ะ
และนี่ก็คือ 10 Tips ที่อร่อย ย่อยง่าย จากพี่เชียร์ พร้อมนำไปใช้ได้ทันทีค่ะ 🙂

(1) การใช้แรงแลกเงิน เมื่อหมดแรง = ว่างเปล่า ตรงกันข้าม ถ้าใช้ธุรกิจแลกเงิน = ให้เงินทำงานไปพร้อม ๆ กับเรา
“พอเราเริ่มโตขึ้น เรารู้สึกว่าการเป็นนักแสดงเนี่ย อย่างที่เชียร์บอกมันคือเอาการเอาตัวเองทำทุกอย่าง ฉะนั้นแล้วถามว่า วันหนึ่งถ้าเราหยุดทำ…แล้วไงอ่ะ ? มันก็ไม่มีงานออก นั่นคือหมายความว่า ตัวเราคือสินค้า ตัวเราคือแบรนด์ แล้วถ้าวันนึงแบรนด์นี้ไม่เดินต่อ หรือแบรนด์นี้มีอะไรที่แบบเหมือนเจ็บป่วยขึ้นมา ซึ่งเราเคยเจ็บป่วยขึ้นมาแล้วทำอะไรไม่ได้ ทำงานไม่ได้ รายได้หาย ฉะนั้นแล้ว เราจะหยุดตอนไหน เพราะว่าถ้าแบรนด์นี้หยุด ทุกอย่างหยุด รายได้จากไหน? ไม่มี…
ก็เลยเริ่มมองว่า เราควรจะทำอะไรที่ให้แบรนด์มันเดินไปด้วยตัวมันเอง โดยที่เราอาจจะไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ว่ามาทำธุรกิจ เพราะว่าทำธุรกิจก็คือ การที่เราสร้างแบรนด์ให้มันโตไปในทิศทางของมัน ให้มันทำงานของมัน แต่จริง ๆ ต้องบอกว่านักแสดงเป็นสิ่งที่เชียร์รักอ่ะค่ะ ฉะนั้นแล้วเราไม่ได้อยากหยุดหรอก แต่เราก็ต้องเผื่อไว้ ความมั่นคงหรืออนาคตมันไม่มีความแน่นอนอะไรเลย เราก็ต้องหาอะไรที่มันมีความแน่นอน ก็เลยแตกไลน์ออกมา”

(2) เป้าหมายชัดเจนไม่เลื่อนลอย สำคัญมากในการทำธุรกิจ
“ซึ่งจริง ๆ ต้องบอกว่าเพื่อนเชียร์ คือ การ์ตูนอ่ะค่ะ การ์ตูนเขาเป็นคนที่จุดไอเดียนี้ขึ้นมา เขาก็จุดไอเดียนี้มาตั้งแต่เขาสมัยยังอยู่ปีหนึ่งเหมือนน้อง ๆ อย่างนี้เลย เรายังบอกเลย ณ ตอนนั้นน่ะ เรามองเลยว่า หูว…จะไปสู้ในท้องตลาดได้ไง มันมีแบรนด์ใหญ่ ๆ เยอะเลยนะ แล้วแบบถ้าเราขึ้นมาเป็นเหมือนมันเป็นแบรนด์น้องใหม่ ถามว่าความที่มันจะโตไปไปแข่งกับพวกเขาเหล่านั้นเนี่ย มันจะได้เหรอวะ?
แต่เพื่อนเรามั่นใจมากว่า มันต้องได้ ! ซึ่งเมื่อกี้เชียร์แอบฟังวิทยากรคนก่อนหน้านะคะ เป้าหมายเนี่ยสำคัญมาก เพราะว่าเพื่อนเชียร์เป็นคนมีเป้าหมายชัดเจนมาก เขามองไว้แล้วว่า จบเรียนจบปุ๊บ (ซึ่งตอนนั้นเป็นนักแสดงเหมือนกันค่ะ) เรียนจบปุ๊บเขาจะไม่เป็นนักแสดง เขาจะทำอันนี้ เพราะว่าอันนี้เป็นสิ่งที่เขาชอบและสนใจ และเขาศึกษามันมาตลอด จนเมื่อเรียนจบเขาทำจริง ๆ แล้วตอนที่เขาทำเนี่ย เป็นช่วงบวกประกอบกับความคิดเราพอดี ว่าเราอยากมีธุรกิจแล้ว แล้วมันก็เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเราที่สุด เราก็เลยก็รู้สึกว่า อันนี้แหละได้ เราก็เลยเริ่มมัน”
(3) เริ่มต้นจากความชอบ แต่อย่าลืมศึกษาปัจจัยรอบข้างและความเป็นไปได้ด้วย
“ต้องบอกว่ามันเป็นความใกล้ตัว ความชอบค่ะ แล้วเราก็มองว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่แค่ตัวเราชอบ คนต่าง ๆ หรือว่าปัจจัยต่าง ๆในการที่หันมาสนใจเรื่องความสวยงาม สนใจเรื่องการบำรุงดูแลตัวเองเนี่ย มันเป็นเทรนด์ที่มาแรงมาก อะไรต่างๆที่มันทำให้แบบว่าทานเพื่อสุขภาพเนี่ย มัน Long-term อยู่แล้ว เหมือนแบบโลกเปลี่ยนอ่ะค่ะ มลภาวะเยอะ อะไรที่มันพร้อมจะทำร้ายตัวเราแต่มีเยอะมาก คนก็ยิ่งรักตัวเองเยอะขึ้น ยิ่งใส่ใจตัวเองเยอะขึ้น บางคนเอาเงินไปซื้ออาหารเสริมไม่ยอมกินข้าวอย่างเนี้ยค่ะ มันมีถึงขนาดนั้นเลย เราก็รู้สึกว่าเอ๊ย…อันนี้เนี่ย น่าจะดี”
ใช้เวลาศึกษานานแค่ไหนก่อนทำธุรกิจ?
“หูย…เยอะมากนะคะ คือเยอะมาก แล้วก็เหมือนมันไม่ใช่แค่การศึกษาอย่างเดียวด้วยค่ะ อย่างที่บอก คือ เราเอาเราตัวไปสัมผัส แล้วก็เหมือนเราใช้ความใส่ใจ เวลาที่เราทำมันคล้าย ๆ แบบเรามีความชอบอย่างหนึ่ง ในเวลาเราแสดง เราก็ชอบแล้วก็รักมัน แล้วก็อยู่กับมัน คือทำแล้วเหมือนแฮปปี้ ทำแล้วเหมือนไม่ทำงาน เชียร์ว่าอันนี้เป็นจุดแรกเลยนะ ถ้าสมมุติอย่างมองภาพไม่ออกว่า ถ้าเราเรียนจบหรือว่าแม้กระทั่งไม่ต้องเรียนจบก็ได้ เราอยากจะมีธุรกิจ เราทำอะไรดี ? เชียร์ว่าถ้าเอาความที่มันใกล้ตัวมาก ๆ เอาความชอบเนี่ย เราจะสามารถคลุกคลีกับมันได้โดยไม่รู้สึกไม่ทรมาน รู้สึกแบบโอ๊ย…ต้องตื่นไปทำ โอ๊ยแบบอะไรวะเนี่ย ไม่รู้จักอะไรมันเลย แต่สมมติบางคนชอบกินกาแฟอยู่แล้ว กินมันทุกวัน กินจนรู้ว่าอันนี้เอสเปรสโซ่ อันนี้อร่อย อันนี้อเมริกาโน่กี่ช็อต แล้วแบบแฮปปี้ที่จะอยู่กับมัน อันนี้มันอาจจะเป็นธุรกิจก็ได้ เชียร์ว่าใจที่มันอยู่ในนั้นเนี่ย มันสำคัญมากกับทั้งตัวเราเองแล้วก็มันสำคัญมากกับเวลาที่เราสื่อสารให้คนอื่นรู้ คนอื่นจะรับรู้ได้ว่าอันนี้จริง แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้น ชอบอย่างเดียวมันก็อินดี้ไป เราอาจจะต้องดูความเป็นไปได้ที่มันจะโตไปได้ด้วย”
(4) เรียนรู้ที่จะข้ามผ่านอุปสรรค ไม่ใช่การหันหลังหนีปัญหา
“แน่นอนเลย คือ มันไม่มีอะไรง่ายเลยค่ะไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เชียร์ถึงบอกว่าทำไมแบบลองให้ pick up จากสิ่งที่เราชอบก่อน เพราะว่ามันจะเหมือนเราเลี้ยงลูกอ่ะค่ะ เราก็ต้องเลี้ยงลูกเราให้มันดีที่สุด เติบโตไปอย่างสวยงามที่สุด แต่เวลาที่เขาล้ม เวลาที่เขาแบบอาจจะมีบาดเจ็บอะไรไปบ้าง เราก็พร้อมจะเอาเวลาไปใส่ใจ ดูแลแผล เพื่อให้เขากลับมาเดินได้กลับมาวิ่งได้ต่อ อันนี้แหละเป็นสิ่งสำคัญมากที่ว่า ทุกอย่างไม่มีอะไรสวยงามอยู่แล้ว แต่เมื่อมันเกิดอุปสรรคเนี่ย เราอยู่กับมันได้ยังไง คือไม่ใช่ว่าจะพอเจอปุ๊บแล้วเราจะหันหลังหนีมันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ามันไม่ใช่แค่ตัวเรา พอเราเป็นบริษัทหรืออะไรก็ตาม มันมีทีมงาน มันเป็นความรับผิดชอบอีกก้าวหนึ่งที่มันต้องทำและมันต้องผ่านไป ฉะนั้นเราต้องรับสิ่งนี้ให้ได้เช่นกันค่ะ”

(5) ทุกคนมีเวลาเท่ากัน อยู่ที่ ‘ความตั้งใจ’ ของเราล้วน ๆ
“คือทุกคนยุ่งเหมือนกันหมดอ่ะค่ะ บางทีเชียร์ว่าสิ่งที่เราทำมันจะหนักสำหรับชีวิตเราในตอนนั้นมากเลย เหมือนตอนที่เราเรียนเราก็รู้สึก หูย…ไม่ไหวแล้ว เรียนอะไรขนาดนี้ อ่านหนังสืออะไรขนาดนี้ แต่ว่าจริง ๆ ถ้าให้ลองมอง มองคนที่เขาประสบความสำเร็จ มองคนที่เขาเก่ง หรือแบบบางคนอย่างเงี้ย เหมือนสตีฟ จ็อบส์อย่างเงี้ย คือ เวลาทุกอย่างมันเท่ากันหมดอยู่แล้ว แต่เชียร์ว่าความตั้งใจ ความใส่ใจ ที่เราจะแบ่ง section ในแต่ละอย่างจะทำอะไรเนี่ย มันอยู่กับตัวเราจริงๆ ลองโฟกัสดู ลองแบ่งเวลานิดนึงไปทำอะไรบางอย่างดู แล้วมันก็จะรู้ว่ามันทำได้
สมมติคนไม่เคยตื่นมาออกกำลังกายเช้าเลย สมมติเรียน 8 โมงอย่างเงี้ย ก็เรียน 8 โมงไง ก็ตื่นมา 8 โมงก็หมดวันแล้ว แต่ถ้าสมมุติลองแบบนอนเร็วหน่อย ตื่นมา 6 โมงไปกำลังกายชั่วโมงนึงแล้วมาเรียนต่ออย่างเงี้ย เฮ้ยจริง ๆ มันทำได้นะ แค่เพียงลองที่จะทำ ลองที่จะตั้งเป้าหมาย ลองที่จะแบบเหมือนเซ็ตอะไรบางอย่างขึ้นมาดูแล้วทำมันจริงๆ แล้วจะรู้เลยว่า ไม่มีอะไรที่มันแบบมันไม่ได้หรอก เราเองล้วน ๆ เลย ที่เราอ่ะตอบตัวเองหรือเปล่าว่า เออ…เดี๋ยวไว้ก่อน เดี๋ยวค่อย…อะไรอย่างเนี้ยค่ะ”
(6) ทุกอย่างลองได้ แต่ก็ต้องรับบน ‘ความเสี่ยง’ ของตัวเองได้เช่นกัน
“เชียร์ว่าเด็กสมัยนี้โชคดีมาก มีอะไรที่แบบช่วยเยอะมาก บางทีอยากจะเริ่มทำอะไร Search นิดเดียวเจอแล้ว ถ้าเทียบย้อนไปแต่ก่อนกว่าเราจะเริ่มอะไร เราต้องเอาตัวไปถึงที่ ต้องเอาตัวไปสัมผัส เอาตัวไปค้นข้อมูล เดี๋ยวนี้มันง่ายจริง ๆ ค่ะ แต่กลายเป็นว่า บางทีพออะไรที่มันได้มาง่ายไป เราก็จะเริ่มมันยากไปเหมือนกัน เราก็จะมองว่า เออ…เดี๋ยวก็ได้
ลองดู…แค่ลอง ไม่มีอะไรเสียหาย เชียร์ว่าทุกอย่างลองได้ แต่ก็ต้องรับบนความเสี่ยงตัวเองได้ ไม่ใช่ว่าการลองเหมือนเป็นการทุ่มไปทั้งหมด บางทีเราก็ต้องยอมรับว่า เดี๋ยวนี้อะไรหลายอย่างองค์ประกอบมันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลาแม้กระทั่งตัวเราเองยังเปลี่ยนใจตลอดเวลาเลย แล้วเอาอะไรกับข้างนอกใช่ไหมคะ
คือเริ่มตอนนี้ มันดีกว่าเริ่มในอนาคตแน่นอน สิ่งที่เราจะทำในชีวิตมันจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ นะ ต่อให้อนาคตเราทำงานแล้ว ความรับผิดชอบตรงนั้นมันก็จะใหญ่ขึ้นไปอีก ฉะนั้นแล้ว ทุกอย่างมันเริ่มได้เสมอ ในอนาคตมันไม่มีหรอกที่ว่า เดี๋ยวว่างก่อน เดี๋ยวอนาคตมันคงดีกว่านี้มั้ง เดี๋ยวมีเวลาว่างเยอะขึ้น…ไม่มีทางค่ะ ไม่มีทางเลยพี่บอกเลย”

(7) ต่อให้เงินเก็บเยอะ แต่ไม่รู้จักให้ ‘เงินทำงาน’ ก็มีโอกาสที่จะเสียเปรียบมากกว่า
“ถ้าเราลองมองเป็น Long-term Future Planning ถ้าเรายังไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เราค่อย ๆ เก็บทีละเล็กน้อย 10-20% ลองตั้งไว้ดู เหมือนแบบแต่ก่อนค่าขนม 40บาท 10 บาทเราใส่กระปุก อีก 30 เอาไปซื้อขนมซื้ออะไรที่เราชอบ แล้วเหลือเอามาใส่กระปุกอีกก็ได้ ทำอย่างนี้จนเป็นนิสัย แล้วโตมามันเป็นนิสัยจริง ๆ เหมือนเวลาที่เราทำอะไรเราก็จะชอบแบ่ง เหมือนแบ่งด้วยความงก แล้วแบ่งเยอะ ๆ หน่อยเก็บไว้โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร แต่ ณ วันนี้พอเรารู้แล้วว่าเราจะทำอะไร สิ่งที่เราจะหยิบออกมาได้ดี มันเจ๋งมากอ่ะค่ะ
เคยดูตอนเด็ก ๆ เขาบอกให้แบ่งใส่กระปุกวันละ 15 บาท ผ่านไป 15 ปีมันจะเป็นสองแสนกว่าบาท อย่าดูถูกเงินเพียงเล็กน้อย ฉะนั้นแล้ว ลองแบ่งเปอร์เซ็นต์ดู การแบ่งเปอร์เซ็นต์ของเชียร์ในวันนั้นมันก็ติดมาจนวันนี้ เชียร์ว่าสิ่งที่สำคัญสุด คือ ต่อให้เรามีเงินเยอะแค่ไหน แต่เราไม่รู้จักให้เงินมันทำงานเนี่ย มันก็อยู่เป็นมูลค่าที่เสียเปรียบกว่า การให้เงินมันทำงาน มันคือสิ่งที่สบายที่สุดแล้ว ทีนี้ High risk high return”
(8) เมื่อลงทุนอะไรก็ตาม อย่าลืมคิดเผื่อไว้ว่า ถ้า ‘ขาดทุน’ ขึ้นมาเราจะทำยังไงต่อ และอย่าลืมแบ่งเปอร์เซ็นต์ไว้ถ้าจะลงทุน มันไม่ใช่การ ‘ทุ่มหมดหน้าตัก’
“บางคนบอกมีหลายอย่างมากทำอะไรดี ตอนนั้นเชียร์เริ่มจากการไปซื้อทองก่อน เปลี่ยนจากการเก็บให้มันเป็นเงินเย็น เปลี่ยนเป็นการเก็บโดยการเอาไปซื้อทอง เพราะว่าตอนที่เราเริ่มรู้จักทอง ตอนนั้นมันประมาณ 9,000 บาทเอง (ทองคำแท่ง) จนปัจจุบันนี้มันก็มาเรื่อย ๆ เราจะเป็นภาพเป็น 15,000 เป็น 18,000 เป็น 20,000 เป็น 25,000 แต่ตอนที่เชียร์เริ่มไปซื้อมันเป็น 25,000 แต่ถามว่าช่วงนั้นได้กำไรมั้ย ได้กำไรนะคะ แต่เป็นการเล่นแบบสั้น ๆ เล่นแบบพอมันขึ้นปุ๊บเราขาย พอมันลงปุ๊บเราซื้อ อุ๊ยสนุกจะตายแป๊บเดียวได้เงินแล้ว
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเรายังทำด้วยความสนุก ปรากฏว่าลืมที่จะดูปัจจัยรอบข้าง เงินดอลลาร์เอย ราคาน้ำมัน ตลาดโลก อย่างที่เชียร์บอกว่า เราต้องรับกับปัจจัยเสี่ยงนั้นให้ได้ เชียร์มองว่าตอนช่วงที่เราซื้อขายเราไม่ได้ทุ่มหมด เราแค่แบ่งเปอร์เซ็นต์ออกมาสัก 20-30% จากเงินเก็บเรา เอาออกมาเล่นเพื่อให้เรารู้จักมัน แต่ถ้าเราเพลี่ยงพล้ำเราเก็บเป็นทรัพย์สินได้ อันนั้นคือปัจจัยที่เราตั้งไว้ว่าเรารับได้ เราคิดไว้แล้วว่ามันจะเป็นแบบนี้ ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ อ่ะค่ะ (หัวเราะ) เราก็ต้องรับปัจจัยเสี่ยงแล้วมันก็เสี่ยงจริง ๆ เชียร์ก็เก็บเป็นทองไว้จริง ๆ เพราะว่าราคาทองปัจจุบันประมาณ 18,500 แล้วเราเคยซื้อตอนที่มัน 20,000 กว่า แน่นอน…ดอย ดอยล้วน ๆ แต่เราเก็บเป็นทรัพย์สินได้ไม่เป็นไร ซึ่งตรงนี้มันต้องมีการวางแผน”
(9) เมื่อของมี ‘จำกัด’ แปรผกผันกับ ‘ความต้องการ’ ที่มีมากขึ้น ก็อาจมีโอกาสทำ ‘กำไร’ ได้สูงขึ้นตามไปด้วย
“เราไม่เคยรู้เลยว่า สิ่งของเนี่ยมันมีอะไรบางอย่างที่มันเป็นการเพิ่ม Value (มูลค่า) ของมันได้อย่างไม่น่าเชื่อ พระเครื่อง ไวน์ มีมูลค่าด้วย มีการทำกำไรได้ แต่อันนั้นก็ไกลตัวเราอีก เรารู้สึกว่าเราไม่ได้มีความรู้ ไม่ได้ชอบขนาดนั้น พอมาเป็นนาฬิกาปุ๊บ ใส่ปุ๊บ ฮึ้ย…ชอบอ่ะ ดี๊ดีอ่ะ (เสียงร่าเริง) พอชอบเสร็จปุ๊บมีคนบอกว่า ลองเล่นดูสิ มันทำกำไรได้นะ พอได้ยินคำว่ากำไรปุ๊บ มาเลย…ชอบปุ๊บ ได้กำไรอีก ยิ่งเป็นสิ่งที่ดี
ในบางแบรนด์นโยบายทางราคาของเขาเนี่ย บางแบรนด์ปรับขึ้นตลอด เช่น สมมติมือหนึ่ง 300,000 บาท มันปรับขึ้น 5-10%ทุกปี บางรุ่นปรับขึ้น 20-30 % สมมติ 300,000 เป็นมือหนึ่งพอซื้อออกมาราคาตก แล้วมันกำไรยังไง? มันขาดทุนอยู่แล้ว สมมติเหลือ 280,000 แต่ปรากฏว่า ถ้านโยบายราคาจากช็อปเขาปรับขึ้น เมื่อมันกระโดดเป็น 330,000 มือสองมันก็ต้องขึ้น แล้วการที่มันขึ้นอย่างนี้ตลอด นั่นหมายความว่า ทำไมเราถึงได้กำไร”
(10) ศึกษาให้รู้จริง แล้วนำ Main Idea ของสิ่งนั้นมาปรับใช้กับธุรกิจของเรา
“ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องลองศึกษา ต้องแนะนำก่อนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างต้องคลุกคลี ต้องลองศึกษา อย่างนาฬิกาทำไมราคามันถึงขึ้นเป็นอย่างนั้น เพราะว่าสิ่งของบางอย่าง เมื่อมันเลิกผลิต ของมีจำกัด ความต้องการมีเยอะขึ้น มูลค่ามันจะเพิ่มขึ้น ฉะนั้นแล้ว ถ้าจะทำอะไรก็แล้วแต่ ลองเอาบางอย่างในแต่ละอย่าง ศึกษาดึงแกน (Main Idea) มา แล้วนำมาปรับใช้กับธุรกิจ หรือเอาไปปรับใช้ในบางอย่างดู อย่างอาหารเสริมของเชียร์ มันถือว่าคือปัจจัยหนึ่งที่คนสมัยนี้รู้สึกจำเป็น กินตลอดไม่ต่างกับกินอาหาร อันนั้นคือความต้องการที่มีมากในท้องตลาด อันนั้นก็เป็นโอกาสหนึ่งที่น้องลองไป adapt ดูว่าเราจะสามารถ adapt ไปใช้กับอะไรได้ มันก็จะเป็นหนทางในการเริ่มที่สวยงาม และสำคัญสุดก็คือ เอาที่ใจรัก เอาที่ใจชอบ ดูแลเขาอย่างใกล้ชิดเหมือนเขาเป็นลูกเรา”

เป็นอย่างไรกันบ้างคะสำหรับ 10 Tips ที่พี่เชียร์บอก อ่านกันตาแฉะไปเลยชิมิ 555 ตอนที่นั่งฟัง นุ่นรู้สึกเลยค่ะว่าพี่เขาพูดดีมาก พอมานั่งจด นั่งถอดเทป ยิ่งรู้สึกว่าเป็น Content ที่ดีขึ้นไปอีก ชอบที่พี่เชียร์เตือนตลอดให้เราอยู่กับความเป็นจริง ไม่เพ้อฝัน ทุกอย่างมีความเสี่ยงและด้านตรงข้ามหมด มีกำไรก็มีขาดทุน มีได้ก็มีเสีย
แม้จะเป็นธุรกิจที่เริ่มด้วยใจ แต่ก็ต้องใช้การวางแผนและการระมัดระวังที่สูงมากเช่นกันค่ะ 🙂
นุ่นนิ่น ^^
———————————————————————————————————————–